Thursday, November 06, 2008

รู้จักกับ COP14

หลายคนคงเคยได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ The inconvenient truth กันมาบ้าง หนังสารคดีที่มี อัล กอร์ เป็นตัวดำเนินเรื่องนั่นแหละ
หนังเรื่องนี้ ชี้และกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักถึงภัยอันตรายของภาวะโลกร้อนซึ่งจะมีผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติทั้งโลก

ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการตื่นตัว รณรงค์ใส่ใจเรื่องโลกร้อน และก็เกิดเป็นกระแสถุงผ้าลดโลกร้อนในเมืองไทย ฮิตราวกับกระแสมือตบพันธมิตรอย่างนั้น

แต่เวลาอันใกล้ แต่ละประเทศจะได้แสดงบทบาทและจุดยืนเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนอีกครั้ง ในการประชุม ที่มีชื่อภาษาอังกฤษยาวเฟื้อยเลื้อยขึ้นหลังคา ว่า
The 14th Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) หรือชื่อย่อคือ COP14

ดูจากชื่อก็พอจะทราบว่า เป็นการประชุมว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศในภาคีอนุสัญญา UNFCCC นี่เอง

COP14 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม ที่เมือง Poznan, Poland

บนเวที COP14 จะเป็นการเจรจาความเมืองเรื่องโลกร้อน ซึ่งก็จะแบ่งย่อยออกเป็นหลายๆเรื่อง เนื่องจากประเด็นโลกร้อนเข้าไปเกี่ยวพันกับหลายๆส่วนของระบบเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์

ด้านฝ่ายเศรษฐกิจ ก็คงต้องยอมรับว่า ประเด็นเรื่องโลกร้อนกลายมาเป็น ปัญหาการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ไปแล้ว ประเทศไหนที่ผลิตสินค้าโดยปล่อย Greenhouse Gas (GHGs) ออกมามาก ก็จะโดนห้ามส่งออกไป EU ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าสงสาร เพราะว่า ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อลดการปล่อย GHGs ซึ่งนั่นก็เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องปรับตัวและต่อสู้ในข้อนี้

เป็นตัวอย่างข้อขัดแย้งทางการค้าที่ขอยกมาให้ดูพอเห็นภาพ
เพราะทั้งที่จริงมีเรื่องของการปล่อย GHG ตลาดซื้อขายคาร์บอน เครื่องมือและข้อปฏิบัติหลังจากพิธีสารเกียวโตหมดอายุลงไปในปี 2012 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์
ส่วนสายวิทยาศาสตร์ ก็มีการพูดกันถึงการช่วยเหลือและพัฒนาเทคโนโลยี ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาว่าจะช่วยกันลดโลกร้อนหรือลดการปล่อย GHG กันอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตั้งแง่ เพราะว่าไม่อยากจะเสียเงินให้กับ LDC โดยที่ประเทศตัวเองไม่ได้อะไรตอบแทนกลับไป

เป็นแค่ตัวอย่างน้ำจิ้ม ความดุเดือดเลือดพล่านของการเจรจาความเมือง เรื่องผลประโยชน์ระหว่างประเทศ รวมถึงความเป็นไปของโลก

COP14 จึงเป็นเวทีที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า โลกจะไปทางไหน และไทยจะไปทางใดในกระแสการเมืองโลก

0 Comments:

Post a Comment

<< Home