Wednesday, June 25, 2008

60 ปีเศรษฐศาสตร์ มธ. การกลับมาอีกครั้งของ "ชุมทางเทคโนแครต"

60 ปีเศรษฐศาสตร์ มธ. การกลับมาอีกครั้งของ "ชุมทางเทคโนแครต"

14 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุครบ 59 ปีเต็ม ช่วงเวลานับจากนี้กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 60 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชื่อชั้นของคณะนี้ไม่ได้เป็นแต่เพียงคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เศรษฐกิจ และอาจจะเรียกได้ว่าครั้งหนึ่ง ที่นี่เคยเป็น "ชุมทางของเทคโนแครต" ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าในระยะหลังๆ บทบาทในลักษณะนี้ จะลดลง

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนปัจจุบันที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มา 2 ปีกว่า ก็ยอมรับว่า "สมัยก่อนคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถือเป็นขุมความรู้และเป็นแหล่งองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจไทย เช่น ถ้าใครอยากรู้เรื่องการกระจายรายได้ ปัญหาความยากจน ต้องมาคุยกับ เมธี ครองแก้ว ใครอยากรู้เรื่อง การคลัง ต้องมาหา ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ใครอยากรู้เรื่องเกษตรต้องมาหา ดร.อัมมาร สยามวาลา ฝรั่งถ้าจะทำวิจัยต้องมาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นไอเอ็มเอฟ หรือเวิรลด์แบงก์ เรื่องว่าเมื่อก่อนหัวบันได คณะไม่เคยแห้ง แต่ตอนนี้แห้งหมดเลย"

ทั้งๆ ที่วันนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถือเป็นคณะที่อาจารย์ที่จบปริญญาเอกในสัดส่วนถึง 64% จากจำนวนอาจารย์ทั้งหมด 84 คน อะไรจึงทำให้เกิดภาวะเช่นวันนี้

รศ.ดร.นิพนธ์บอกว่า "ที่เป็นอย่างนี้เพราะเรามัวไปทำมาหากิน ซึ่งเป็นปัญหาของวงการวิชาการทุกแห่งไม่ได้เป็นเฉพาะคณะเศรษฐศาสตร์ และกลายเป็น วิกฤตอุดมศึกษาไทย ปัญหาของเราคืออาจารย์รับจ้างทำงานวิจัยให้กับหน่วยราชการมาก เป็นลักษณะของการเป็นที่ปรึกษา ทำให้ไม่มีเวลาที่จะทำงานวิจัย เพื่อการเรียน การสอน รวมไปถึงงานวิจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ"

ขณะที่อีกปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือ จำนวนนักศึกษาที่กำลังลดน้อยถอยลง

"การที่มหาวิทยาลัยต่างๆ แข่งขันกันจัดโครงการปริญญาโท เอก ให้ปริญญาง่าย คุณภาพต่ำ ทีนี้พอเราไม่ยอมปรับลดในแง่คุณภาพ แถมต้องใช้เวลาเรียนปริญญาโท 3 ปี ที่อื่นเรียนกันปีเดียวและเรียนจบยาก ทำให้เด็กเก่งๆ หนีไปเรียนที่อื่นหมด เพราะ เมื่อจบออกมา ก.พ.ก็ตีค่าปริญญาเท่ากัน"

ปัญหาเรื่องนี้กลายเป็น 2 เรื่องหลักๆ ที่ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าถึงเวลาต้องปรับตัวและ "ปฏิรูป" ครั้งใหญ่ ทั้งในแง่ของหลักสูตรและบริการวิชาการ

การปรับส่วนแรก คือ การมุ่งผลิต นักวิจัยด้วยการพัฒนาหลักสูตร "เศรษฐศาสตรบัณฑิตที่เชื่อมต่อมหาบัณฑิต หลักสูตร 5 ปี" ในปีการศึกษา 2551 โดยเป็นการเชื่อมโยงหลักสูตรปริญญาตรี โดยลดจำนวนหน่วยกิตลงให้สามารถเรียนปริญญาตรีได้ในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง และเรียนต่อปริญญาโทได้ในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง โดยแบ่งออกเป็นบันได 3 ขั้น ขั้นแรก คือ ปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง (silver) ขั้นที่ 2 ปริญญาตรีก้าวหน้า เรียน 4 ปี (gold) และขั้นที่ 3 ได้ปริญญาโท โดยเรียน 5 ปี (platinum) ซึ่งจะเน้นในเรื่องการวิจัย

รศ.ดร.นิพนธ์อธิบายว่า "หลักสูตรนี้จะต่างจากหลักสูตร 5 ปีของคณะบัญชี ที่เด็กต้องลงในโปรแกรมมาตั้งแต่ต้น แต่ของเราเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเรียน โดยมีทางเลือกให้ 3 ระดับ ถ้าใครเก่งก็มีโอกาสได้เรียนในโปรแกรม 5 ปี ได้ปริญญาตรีและโท โดยจะมีการเลือกตอนปี 2 และถ้าเรียนเก่งมาก เราก็มีทุนการศึกษาให้อีก ผมว่าวิธีนี้จะช่วยดึงเด็กเก่งๆ ให้มาเรียนกับเราได้มากขึ้น"

"การที่เราเน้นวิจัยเพราะเรามองว่าประเทศต้องมีความต้องการนักวิชาการ รุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้พอเรียนจบสามารถไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และจะกลับมาเป็นนักวิจัย เป็นอาจารย์ เป็นคนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ"

และหลังจากโครงการนี้เป็นรูปเป็นร่าง ก็จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาหลักสูตรปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันมีคนเรียนเพียงปีละ 3-5 คน ซึ่งในอนาคตจากการปรับตัวของคณะ เชื่อว่าจะทำให้มีนักวิจัยมากขึ้นและพอเพียงที่จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณนักศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยต้องผลิตให้ได้ 15 คนต่อปี

การปรับส่วนที่ 2 คือ เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งมี 2 โครงการใหญ่ โครงแรก คือ การเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านการค้าระหว่างประเทศ (นิติเศรษฐศาสตร์)

"เรามองว่าเป็นความจำเป็นและมีความต้องการคนแบบนี้มาก เพราะการค้าวันนี้มีกฎระเบียบทางการค้ามาก จึงต้องรู้ทั้ง หลักกฎหมายและหลักเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรสหวิทยาการ ที่แท้จริงอันแรกของประเทศ เราไม่ได้ทำเป็นแบบคอนโดฯอย่างที่คนอื่นทำ โดยคนสอนเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง คนสอนนิติศาสตร์คนหนึ่ง แล้วคิดว่าเด็กจะสามารถประยุกต์องค์ความรู้ร่วมกันได้เอง แต่ในหลักสูตรที่เรากำลังพัฒนาและคาดว่าอาจจะเสร็จในปี 2551-2552 คือเราจะผสานความรู้ทั้ง 2 ด้านเข้ามา โดยแต่ละวิชาจะมีอาจารย์จากทั้งนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มาร่วมกันสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายจึงอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเครื่องมือในการสอนระยะหนึ่ง"

โครงการที่ 2 เป็นการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ โดยจะแบ่งกเป็น 3 ส่วน ส่วนหลัก คือ หลักเศรษฐศาสตร์ แต่ในอีก 2 ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการประเมินโครงการ โดยจะแล้วเสร็จในปี 2552

"การออกแบบหลักสูตรจะเป็น ReadyMade คือเป็นเครื่องมือที่พร้อมใช้ในทันที และโมดูลต่างๆ ที่ให้นักศึกษาเลือกก็จะปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย"

อย่างไรก็ตามการปรับตัวครั้งนี้จะเป็นไปได้อย่างที่ตั้งใจไว้ สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญมากคือการดึงอาจารย์กลับมาทำงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย แต่นับเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณรายรับประมาณราว 200 ล้านบาท โดยในปี 2550 มีรายรับเป็นงบประมาณ 209.6ล้านบาท แต่ 75% เป็น รายได้ที่คณะหารายได้เอง ส่วนอีก 25% ที่เหลือมาจากงบประมาณภาครัฐ และ จึงเป็นที่มาของโครงการ "60 ปี 60 ล้าน" ในการระดมทุนจากศิษย์เก่าและภาคเอกชนเพื่อจะนำมาพัฒนาคณะ โดยเฉพาะการพัฒนาซอฟต์แวร์ในวาระที่ต้องย้ายหลักสูตรปกติทั้งหมดไปอยู่ที่วิทยาเขตรังสิต ภายในปี 2551

การนำคณะเศรษฐศาสตร์กลับมาผงาดอีกครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย !!


หน้า 31

ที่มา : http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edu01190651&day=2008-06-19§ionid=0222

1 Comments:

At Wednesday, January 28, 2009 12:03:00 AM, Anonymous Anonymous said...

ขอบคุณครับ

 

Post a Comment

<< Home