Wednesday, June 11, 2008

เขื่อน การพัฒนาที่เจ็บปวด

ข่าวหนังสือแทบทุกฉบับ พาดหัว เรื่อง นายกฯหมี หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมอัดเอ็นจีโอ

ชาวบ้านแถวนั้น ก็ออกมาท้านายกฯหมี ให้มานับต้นสักทองกัน

กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ กลายเป็น กรณีศึกษาอันคลาสสิกยิ่ง
เพราะว่า ยืดเยื้อ มานานโข ไม่สามารถหาข้อสรุปได้

มีการศึกษาของ TDRI ก็พบว่า ไม่คุ้มทุนในทางเศรษฐศาสตร์

การศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก

ก็ยังจะหน้าด้านสร้างกันอีก

ไม่ใช่แต่กรณี แก่งเสือเต้น เท่านั้นครับ
กรณี เขื่อนอื่นๆ ก็เช่นกัน

การสร้างเขื่อนขึ้นมา ก็มักจะอ้างเหตุผล เรื่องใหญ่คือเรื่อง ชลประทาน เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
ตอนผมเป็นเด็ก ในตำราเรียนก็มีแต่ ใส่ผลดีของเขื่อนเอาไว้ ว่า
เก็บกักน้ำได้ ผลิตไฟฟ้า เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งประมง
แต่ละเลย ที่จะเขียนถึงผลกระทบด้านอื่นๆ เด็กไทยหรือคนไทยก็เลย คิดว่าเขื่อนคือพระเจ้าจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เรื่องขาดน้ำได้

ผมก็ไม่เถียงล่ะ ว่า เขื่อนให้ประโยชน์ อย่างที่ว่ามา
แต่กว่าจะเป็นเขื่อนได้ ต้องแลก หรือ เสียอะไรไปมากมาย

ยกตัวอย่าง เขื่อนลำตะคอง สร้างมา ก็เพื่อการชลประทาน แต่มีบางปีที่ฝนไม่ตก ก็ไม่รู้จะไปเอาน้ำจากไหนมากักเก็บ

กว่าจะเป็นลำตะคองนั้น ต้องเสียพื้นที่ทำกินของคนไปเยอะ คนเหล่านั้นก็ต้องไปหาที่ทำกินใหม่ ก็ยังดีที่สมัยนั้น ไม่ได้มาร้องแรกแหกกระเฌอ เพราะว่ายังพอหาที่ทำกินกันได้
แต่ว่าถ้าเป็นสมัยนี้ล่ะ ก็ยากที่หาที่ทำกินใหม่

แต่อย่างเขื่อนป่าสักฯ เมื่อเริ่มสร้าง ก็มีปัญหาเรื่องการย้ายที่ทำกินของคน คนไม่ยอมย้ายออก ก็ลองคิดถึงใจเขาใจเรา จู่ๆจะให้เค้าย้ายจากที่ทำกินที่อยู่มาตั้งแต่ปู่ย่า เรียกว่า พ่อกูอยู่ ปู่กูตาย อยู่ตรงนี้
ใครจะไปย้ายฟะ ยื้อกันมานาน แต่...
ด้วยเหตุผลบางประการ
เหตุผลของพวกนิยมเจ้า ก็จะบอกว่า ด้วยพระบารมีปกเกล้า
เหตุผลของพวกไม่เอาเจ้า ก็จะบอกว่า ด้วยอำนาจ บลา บลา ว่าไป
คนเหล่านั้นย้ายออกไปโดยดี
การสร้างเขื่อน ก็เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี

นอกจากปัญหาที่ทำกิน ซึ่งพื้นที่หายไป ไม่รู้กี่แสนไร่ บ้านของคน บ้านของสัตว์

ความเสียหายทางนิเวศวิทยา เช่น การสูญพันธ์ของปลาบางชนิด อย่านึกนะครับว่า เขื่อนจะเป็นแหล่งประมง ถูกต้องที่เขื่อนคือแหล่งน้ำ แต่พอเมื่อสร้างเขื่อนแล้ว ปลาบางชนิดไม่สามารถว่ายทวนน้ำไปวางไข่ต้นน้ำได้ เพราะว่าเขื่อนขวางไว้
เขื่อนบางที่ สร้างภาพบอกว่าสร้างบันไดปลาโจน
ปลามันโจนได้ สี่ห้าขั้น ก็หอบแล้ว

พ่อผมเล่า สมัยก่อนสร้างเขื่อน ลำตะคอง มีปลาตัวใหญ่ ปลาที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อ กินกัน จับกัน เยอะมาก แต่พอสร้างเขื่อนแล้ว จำนวนปลาก็ค่อยๆลดลง จนไม่มีแล้ว

นี่คือตัวอย่างความสูญเสีย ซึ่งมันอาจจะไม่อยู๋ในสายตาผู้บริหารบ้านเมือง
แต่เป็นความสูญเสียที่ เราไม่สามารถเรียกกลับคืนได้แล้วนะครับ


0 Comments:

Post a Comment

<< Home